เลือกซื้อ-ของเล่น-ปลอดภัย

รวมของเล่นแฝงอันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

รวมของเล่นแฝงอันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

เลือก ‘ของเล่น’ ยังไงให้ปลอดภัยต่อเด็ก 


ของเล่นเป็นไอเทมลำดับแรก ๆ ที่พ่อแม่มือใหม่จะให้ความสำคัญตั้งแต่ยังไม่คลอดเจ้าตัวเล็ก บางครอบครัวปู่ย่าตายายได้เตรียมของเล่นไว้รอแล้ว หลายสิบชิ้นก็มี ทำให้บางครั้งการเลือกซื้อของเล่นเราอาจจะเลือกซื้อเพราะความน่ารัก สีสวย หรือด้วยหลากหลายเหตุผล จนไม่ทันคาดคิดถึงความปลอดภัย ทำให้ของเล่นบางชิ้นที่ซื้อมาก็อาจจะทำร้ายเด็ก ๆ ทางอ้อมเช่นกัน


วันนี้แปลนทอยส์อยากมาแนะนำแนวทางการเลือกซื้อของเล่นแบบปลอดภัย ต้องเช็กตรงไหนถึงจะรู้ว่าปลอดภัย ไปดูกันเลย

เลี่ยงของเล่นชิ้นเล็ก 


ของเล่นชิ้นเล็ก ตะมุตะมิ แน่นอนว่าแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังชอบ จึงไม่แปลกทีจะดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ได้ แต่การที่เป็นของเล่นชิ้นเล็กที่น่ารัก น่าเล่น ก็ทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้เหมือนกันเพราะเด็ก ๆ อาจเผลอเอาเข้าปากโดยไม่รู้ตัวได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ

ที่สำคัญหากขนาดของเล่นชิ้นนั้นเล็กกว่า 3.2x6 ซม. ก็อาจทำให้เด็ก ๆ เอาเข้าปาก เข้าจมูก เคี้ยว กัด อม ไปจนถึงกลืนลงไปโดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้ตัวได้ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดทั้ง สำลัก ติดคอ ติดจมูก กั้นทางเดินหายใจ และอาจมีอันตรายถึงชีวิต


ของเล่นที่เหมาะสมและปลอดภัยจะมีอายุกำกับอยู่บนหน้ากล่อง เพราะจะผ่านการตรวจสอบในข้อกำหนดด้านการออกแบบของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงอายุที่ระบุไว้ ดังนั้น อย่าลืมสังเกตให้ดีว่าของเล่นที่เราจะซื้อเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยในการเล่น

ของเล่นเส้นสายระวังความยาว


ของเล่นที่มีอันตรายแฝงมาพร้อมกับความสวย น่ารัก น่าเล่น ก็อาจมาพร้อมกับของเล่นที่ตกแต่งหรือแฝงมาพร้อมกับเส้นสาย ไม่ว่าจะเป็นสายโทรศัพท์ สายกีตาร์ ไปจนถึงของเล่นที่มีช่องมีรู ซึ่งหากของเล่นประเภทเส้นสายก็อาจจะแฝงอันตรายหากเด็กเล่นแล้วนำมาขดเป็นวงหรือเกิดการรัดระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งของเล่นเส้นสายของเด็กสำหรับอายุต่ำกว่า 18 เดือน จะมีความยาวไม่เกิน 22 ซม. และหากเด็กอายุตั้งแต่ 18 เดือน - 3 ขวบ ความยาวจะไม่เกิน 30 ซม. เป็นต้น แม้กระทั่งของเล่นที่มีช่อง มีรู ที่มือหรือนิ้วอาจจะติดขัดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองอาจไม่ทันสังเกตและอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ระหว่างการเล่นนั่นเอง

ของเล่นอัดลม


ไม่ว่าจะเป็นปืนอัดลม ปืนลูกดอก หรือของเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘อีโบ๊ะ’ ก็มีความรุนแรงหรือค่าพลังงานจลน์ที่มากกว่า 0.08 จูล ย่อมทำให้เกิดอันตราย ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ทำให้เลือดออก หรือหากโดนดวงตาก็อาจทำให้ตาบอดได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงปืนของเล่น ปืนอัดลมจริง ๆ แล้วไม่ใช่ของเล่นแต่เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบโดยตรงแต่ก็หาซื้อในท้องตลาดด้ง่าย อย่างไรก็ตามการซื้อของเล่นประเภทนี้ก็ควรตรวจสอบดูความเร็ว และความแรงของการกระแทก แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการเลี่ยงไม่ให้เด็ก ๆ เล่นของเล่นประเภทนี้จะปลอดภัยที่สุด

ของเล่นที่มีส่วนแหลมคม 


จุดแหลมคมบนของเล่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกข่าง ส่วนประกอบหุ่นยนต์ หรือรถของเล่นที่มีความแหลมคม ฯลฯ จุดต่าง ๆ เหล่านี้มักหลุดรอดสายตาพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างไม่ทันระวังเพราะด้วยรูปลักษณ์ การออกแบบที่ความสวยงามดึงดูดใจ ทำให้อาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุอย่างไม่ตั้งใจ ดังนั้นการเลือกหรือเช็กของเล่น ตรวจสอบจุดแหลมคม จึงเป็นข้อควรระวังและเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ก่อนจะเลือกซื้อไปเป็นของขวัญวันเกิดหรือของฝากเพื่อลูก 

ของเล่นเสี่ยงติดไฟ  


ชุดแปลงร่าง เสื้อผ้าฮีโร่ ไม่ว่าจะเป็นชุดอุลตร้าแมน ชุดแบทแมน หรือชุดฮีโร่ต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ บางครั้งสามารถหาซื้อได้ง่ายและไม่ได้ผ่านการทดสอบการติดไฟ ถึงแม้พ่อแม่ผู้ปกครองจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว คงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก แต่เมื่อเด็ก ๆ ได้เล่นแล้วจินตนาการของเค้าก็อาจจะสนุกจนลืมความปลอดภัยไปได้ แน่นอนว่าชุดแปลงร่าง ชุดฮีโร่ที่เด็ก ๆ ชอบใส่ ก็ต้องเลือกและระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจติดไฟได้ง่ายด้วย อย่างของเล่นที่มีผ้าไนลอนหรือโพลีแอสเตอร์ที่มีส่วนประกอบ ก็จะติดไฟง่ายและลุกลามได้เร็ว ของเล่นที่ใช้แบตเตอร์รี รวมถึงของเล่นที่มีสีน้ำมัน แต่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองก็วางใจได้ว่าเราไม่ได้ใช้ส่วนประกอบดังกล่าวกับของเล่นไม้ของเรารวมทั้งผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าคอตตอนอีกด้วย

ของเล่นที่ส่งเสียงดัง   


ของเล่นที่มีเสียงเป็นอีกประเภทที่เด็ก ๆ ชอบ เพราะเสียงจะดึงดูดความสนใจได้มาก แม้ว่าเสียงจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยเสริมสร้างทักษะการฟังให้กับเด็ก แต่ถ้าเป็นเสียงที่ดังจนเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อเด็กได้ ตามธรรมชาติเด็ก ๆ จะเรียนรู้และคุ้นเคยกับเสียงได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนในครอบครัว หรือเสียงจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ดังนั้นถ้าหากต้องการกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับเด็กมากขึ้น ควรพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ หรือเลือกของเล่นที่ส่งเสียงในระดับที่เหมาะสม หากซื้อของเล่นที่มีเสียงดังเกินกว่า 110 เดซิเบล ใน 1 วินาที หรือเกิน 80 เดซิเบลแต่ดังต่อเนื่องก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ประสาทหูของเด็ก ๆ ได้เช่นกัน

ทั้งหมดเป็นของเล่นประเภทที่แฝงอันตรายที่หลาย ๆ ครอบครัวอาจจะมองข้ามไปและซื้อมาให้เด็ก ๆ เล่นโดยไม่คาดคิดถึงความอันตรายที่มาพร้อมกับมัน อย่างไรก็ตามยังมีของเล่นอีกหลากหลายแบบที่พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อมาเป็นของขวัญวันเกิด หรือของฝากเพื่อลูกแต่ยังมีความอันตราย เช่น เครื่องเล่นสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มาตรฐาน ของเล่นที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง หรือของเล่นเด็กที่ไม่มีการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่อาจทำให้เด็ก ๆ ได้รับอันตรายได้

อย่างไรก็ตามพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถเลือกซื้อของเล่นหรือของเล่นไม้ที่ปลอดภัยทั้งวัสดุ การผลิต ไปจนถึงวิธีการเล่นได้ง่าย ๆ โดยสามารถตรวจสอบจากเอกสารยืนยันความปลอดภัยที่แสดงอยู่บนกล่องสินค้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานความปลอดภัย หรือมาตรฐานการผลิตที่หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ที่คุณสนใจ เท่านี้ก็สามารถวางใจได้ว่าลูกจะสามารถเรียนรู้ผ่านการเล่นได้อย่างเต็มที่และปลอดภัยแน่นอน


อ้างอิง

หลากอันตรายจาก “ของเล่นเด็ก” 2556. [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา

https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue008/surrounding (8/5/2556)


blog counter

Leave a comment

* Required fields

Please note: comments must be approved before they are published.