✓ Free Shipping
✓ Earn 500 Reward Points on Sign-Up
✓ 14-Day Returns
✓ Free Shipping      ✓ Earn 500 Reward Points on Sign-Up      ✓ 14-Day Returns      
First-5 years-to-improve-skill

5 ปีแรกโอกาสทองส่งเสริมพัฒนาการให้ลูก

5 ปีแรกโอกาสทองส่งเสริมพัฒนาการให้ลูก

การเตรียมเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่แรกเกิดไม่ว่าจะเป็นการซื้อหนังสือ ซื้อของเล่นไม้ หรือซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับช่วงแรกเกิดไปจนถึง 5 ปี เพราะ เป็นช่วงที่เซลล์สมองมีการพัฒนามากที่สุด เด็กที่เสริมพัฒนาการในช่วงนี้ได้ดี จะพร้อมต่อการเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับโลกภายนอกได้ง่าย เมื่อถึงวัยที่เข้าโรงเรียนก็สามารถเรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี เข้าสังคมได้ และเติบโตอย่างมีคุณภาพ


แน่นอนว่าสิ่งสำคัญและจำเป็นคือการส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูก การสอดแทรกกิจกรรมเสริมทักษะระหว่างการเล่นของเล่นหรือของเล่นไม้เข้าไปก็จะช่วยให้การพัฒนาใน 5 ปีแรก เติบโตได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการชวนคุย ชวนเล่น ชวนทำ ชวนเที่ยว หรือชวนอ่านหนังสือ เป็นต้น


สิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นรากฐานในการส่งเสริมพัฒนาการของลูก ก็คือ ความรัก ความเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการของลูก ซึ่งสามารถทำได้โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรานั่นเอง

First-5 years-to-improve-skill

ของเล่นไม้และกิจกรรม ตัวช่วยเสริมการเล่นและเรียนรู้


ไม่ว่าจะเป็น ของเล่นไม้หรือกิจกรรมต่าง ๆ การเสริมพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมควรมีจุดเริ่มต้นที่ครอบครัว ยิ่งได้เริ่มต้นด้วยการเล่นกับคนในครอบครัวและสิ่งรอบตัว หรืออาจเริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เพิ่มเติมความสนุกด้วยของเล่นจะช่วยให้กิจกรรมธรรมดาที่คุ้นเคย เป็นกิจกรรมพิเศษที่ลูก ๆ ตั้งตารอก็เป็นได้ 


ไม่ว่าจะเป็นการชวนลูกคุย ชวนลูกเล่น ชวนลูกทำ พาลูกเที่ยวหรืออ่านหนังสือกับลูก กิจกรรมเหล่านี้สามารถเพิ่มตัวช่วยอย่างของเล่นไม้ หรือสอดแทรกกิจกรรมง่าย ๆ เข้าไประหว่างทำกิจกรรมได้ หรือบางครอบครัวก็เริ่มต้นที่การเล่นกับลูก ไปก่อนตามฟังก์ชันของของเล่นหรือกิจกรรมนั้น ๆ แล้วค่อยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทีหลังก็ช่วยเพิ่มการเรียนรู้และการเล่นได้เหมือนกัน

'แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นการเล่นด้วยของเล่น หรือสอดแทรกการเล่นกับกิจวัตรประจำวัน สิ่งสำคัญคือ ความสม่ำเสมอ ทำสะสมไปเรื่ยอ ๆ ทุกวัน เมื่อทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ เด็ก ๆ จะเกิดการเรียนรู้ไปตามธรรมชาติ'

First-5 years-to-improve-skill

หาเรื่องคุย เสริมการเล่นด้วยของเล่นไม้


การที่หลาย ๆ ครอบครัวเริ่มต้นหาเรื่องคุย หาตัวช่วยการเล่าเรื่องด้วยของเล่น ของเล่นไม้หรือกิจกรรมต่าง ๆ นับว่าเสริมพัฒนาการมาถูกทางแล้ว ถึงแม้จะมีความคิดว่าเด็ก อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ทุกการเล่น ทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัว ล้วนมีผลต่อเด็ก และส่งอิทธิพลต่อความรู้สึก ความคิดและการเรียนรู้ของลูกอย่างแท้จริง  

ทำไมคุยกับลูกจึงสำคัญ?


การที่ครอบครัวได้พูดคุย ได้สื่อสารกับลูก ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเด็กทั้งนั้น เพราะ ลูกจะได้เรียนรู้ เลียนแบบ กระตุ้นสมอง รู้จักสื่อสาร เพิ่มความรู้ และยังเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นด้วย ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อการเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก ดังนี้

  • เรียนรู้ภาษา แน่นอนว่าทั้งคำศัพท์ น้ำเสียง การเลียนแบบคำพูดที่เราใช้ ลูกจะเรียนรู้ผ่านบทสนทนาต่าง ๆ ซึ่งการพูดคุยด้วยบ่อย ๆ จะทำให้ลูกเพิ่มคลังคำศัพท์ และเพิ่มทักษะการสื่อสารได้มากขึ้น

  • กระตุ้นพัฒนาการ การที่ครอบครัวใช้เวลาพูดคุยกับลูก เป็นการเพิ่มเสริมพัฒนาการผ่านการตั้งคำถามชวนให้ลูกคิด หรือตอบ ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง 

  • เสริมความรู้ วัยแรกเกิดเป็นช่วงวัยที่สมองสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้เป็นอย่างมาก การเพิ่มความรู้ ขยายพื้นที่เก็บข้อมูล ด้วยการเล่า การสอน เติมสิ่งดี ๆ ให้กับลูก ก็ช่วยเสริมความรู้ต่อยอดที่ส่งผลต่อพัฒนาสมองต่อไปได้

  • เข้าใจตนเองและผู้อื่น การพูดคุยก็เหมือนการให้พื้นที่เค้าแสดงออก แสดงความคิดเห็น แสดงอารมณ์ออกมา ทำให้เกิดการยอมรับในตัวเอง รู้จักอารมณ์ของตนเอง และนำไปสู่การยอมรับและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่นได้

พัฒนาการสื่อสาร การชวนลูกคุยสามารถช่วยฝึกทักษะการสื่อสารเพื่อให้ลูกเข้าใจการเป็นผู้พูดและเป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้รู้จักการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งยังฝึกให้กล้าคิด กล้าพูดโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

ชวนลูกคุย ด้วยของเล่นไม้


หากไม่รู้จะเริ่มต้นคุยกับลูกอย่างไร การมีของเล่นไม้ มาเป็นสื่อกลาง ก็ทำให้การเล่าเรื่อง เล่านิทาน เข้าใจง่ายมากขึ้น แม้เริ่มต้นลูกจะยังไม่เข้าใจภาษาพูด แต่เด็ก ๆ จะเชื่อมโยงประสบการณ์รอบตัวกับเสียงและคำต่าง ๆ ที่เล่าออกมา พัฒนาไปเป็นความหมายและเริมพยายามเลียนแบบผู้ใหญ่ได้


อีกทั้งในขณะพูดคุยก็สามารถเพิ่มการตั้งคำถามเข้าไปในบทสนทนาด้วยก็เป็นการชวนให้ลูกได้ใช้ความคิด ได้เชื่อมโยงประสบการณ์ เป็นพื้นที่ให้ลูกแสดงความรู้สึก ได้ทำให้รู้จักกับลูกมากขึ้นผ่านคำตอบต่าง ๆ ของลูก หรือจะเพิ่มการร้องเพลงไปพร้อมกับการเล่นมีท่าทางประกอบ การใช้คำคล้องจอง ใช้เสียงต่ำ เสียงสูง จังหวะช้าหรือเร็ว ก็ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักคำศัพท์ได้ง่ายขึ้นด้วย


ที่สำคัญการชวนลูกคุยต้องมาพร้อมกับคำพูดเชิงบวก อย่างรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ด่วนตัดสินเหตุผลของลูก ยอมรับความรู้สึกของลูกที่แสดงออกมา ตำหนิที่การกระทำไม่ใช่ตัวตนของลูก เป็นตัวอย่างให้ลูกได้เรียนรู้กับการจัดการอารมณ์ และการพูดโดยให้สิทธิการเลือกกับลูกแทนการออกคำสั่งเป็นต้น

First-5 years-to-improve-skill

ชวนลูกเสริมพัฒนาการกับของเล่นและของเล่นไม้ 


การเล่นกับลูกไม่ว่าจะของเล่น ของเล่นไม้ หรือของเล่นต่าง ๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่ครอบครัวว่าจะให้เวลาการเล่นให้กับลูก ๆ ได้อย่างเต็มที่หรือไม่ เพราะสิ่งที่ได้จากการเล่นกับลูกช่วยให้เสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะเล่นแบบไหน เล่นยังไงลูก ๆ ย่อมได้ประโยชน์จากการเล่นอย่างแน่นอน


ที่สำคัญหากการเล่นนั้นมีครอบครัวอยู่ด้วย ก็เป็นการเล่นที่มีความหมาย มีคุณค่ามากขึ้นอีกด้วย การเล่นกับลูกทุกวัน จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้เสริมพัฒนาการและได้ประโยชน์กับลูก ๆ ดังนี้

  1. ค้นพบความถนัด ลูกได้เล่น ได้สนุกกับทุกอย่าง ทำให้เด็ก ๆ รู้จักตนเองจากการเล่นในแบบต่าง ๆ เพื่อค้นหาความถนัดและต่อยอดความชอบในอนาคต

  2. เช็กพัฒนาการ ครอบครัวได้ตรวจเช็กพัฒนาการที่สำคัญของลูก ๆ ว่าผิดปกติหรือไม่ หรือมีตรงส่วนใดที่พัฒนาได้ช้าไปกว่าเกณฑ์

  3. เสริมสร้างความมั่นใจ เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่นและยังเสริมสร้างความมั่นใจในการเล่นอีกด้วย

  4. กระตุ้นความคิด การชวนลูกตั้งคำถามในระหว่างการเล่น ก็ช่วยให้ลูกต่อยอดความคิด ชวนตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดตามและหาคำตอบ

  5. สร้างความอบอุ่น กระชับความสัมพันธ์ สร้างความอบอุ่นและความผูกพันให้กับครอบครัว

  6. พัฒนาทักษะการสื่อสาร การพูดคุยระหว่างการเล่น ช่วยให้พัฒนาการสื่อสารให้กับลูก ๆ ได้

  7. เสริมพัฒนาการ ลูก ๆ ได้เรียนรู้ ได้เสริมทักษะผ่านการเล่นในแบบต่าง ๆ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้กับลูกได้ รวมถึงลุกได้เรียนรู้ทักษะและบทบาททางสังคมจากการเล่นกับผู้อื่น

นอกจากการเล่นของเล่นไม้ที่เพิ่มความสนุกในการเล่นกับลูกแล้ว การเล่นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การทำกิจกรรมที่ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้พูดคุย สื่อสารกัน ก็เป็นอีกกิจกรรมที่เสริมทักษะได้ไม่ต่างจากการเล่นของเล่นอีกด้วย


เล่นอะไรได้บ้าง นอกจากของเล่นหรือของเล่นไม้ 


บางครั้งการเล่นของเด็ก ๆ มักจะทำให้ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่ม เล่นสนุกกับของเล่นหรือของเล่นไม้ เด็ก ๆ มักจะเติมความคิดสร้างสรรค์ เติมจินตนาการมากมายอย่างไม่รู้จบ แต่นอกจากของเล่นที่เด็ก ๆ ชอบแล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์หรือการเล่นที่เด็ก ๆ สามารถเอ็นจอยขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยก็คือ

  1. ร่างกาย อวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะของพ่อแม่ หรืออวัยวะของตัวเด็กเอง มาประยุกต์เป็ยของเล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเล่น จ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนแอบ เล่นจั๊กกะจี้ ขี่คอ เล่นเงา ตบแปะ เป็นต้น

  2. สิ่งของรอบตัว การวาดรูป ระบายสี งานประดิษฐ์ ปะติด การเล่นเหล่านี้สามารถใช้จินตนาการ ความคิดและได้ความสนุกที่สามารถหาความสุขได้รอบตัว อีกทั้งเด็ก ๆ ยังเห็นคุณค่าของสิ่งของต่าง ๆ ได้

  3. บทบาทสมมุติ การเล่นเลียนแบบ เล่นบทบาทสมมุติ ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอ พ่อค้าแม่ค้า ตำรวจ เล่นเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือเล่นเป็นตัวละครในนิทาน เด็ก ๆ ก็ได้การพัฒนาทักษะหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกใช้ภาษา รู้จักสื่อสาร

เล่นกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเล่นดิน เล่นทราย การเล่นใกล้ชิดธรรมชาติ สนุกอย่างอิสระเสรี ไม่ว่าจะเป็นการปั้นดิน เก็บใบไม้แห้ง เรียงก้อนหิน ช่วยให้เด็ก ๆ สนุก สดชื่นแจ่มใส

First-5 years-to-improve-skill

ชวนลูกทำ พัฒนาทักษะ 


นอกจากการชวนลูกเล่นที่ได้ประโยชน์แล้ว การชวนลูกทำกิจวัตรประจำวัน ก็แฝงประโยชน์ เสริมพัฒนาการได้ดีไม่แพ้กัน โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จากกิจวัตรประจำวันที่ทำทุกวันตั้งแต่ ล้างหน้า อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ ถ้าหากชวนลูกทำสิ่งเหล่านี้ทุกวัน ลูก ๆ ได้รับประโยชน์ที่แฝงเข้ามาอย่างคาดไม่ถึงได้เลย


โดยเฉพาะการช่วยเหลือตัวเอง และการสร้างวินัยที่ส่งต่อความภาคภูมิใจให้กับตัวเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก การสร้างสิ่งเหล่านี้อาจจะเริ่มจากกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา ปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบอีกด้วย

กิจวัตรยอดนิยมส่งผลต่อพัฒนาการ


การชวนทำงานบ้าน ทำกิจกรรม นอกจากทำให้ลูกไม่เบื่อกับการเล่นแล้ว ประโยชน์ที่แฝงมาก็นับว่าคุ้มค่า ทำให้การเลือกกิจกรรมที่จะให้เด็ก ๆ ทำจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นกัน วันนี้เลยพามาแนะนำกิจกรรมยอดนิยมที่เด็ก ๆ สามารถทำได้ และพัฒนาต่อไปเป็นกิจวัตรประจำวันสำหรับเด็ก ๆ ได้นั้น มีกิจกรรมอะไรบ้าง และได้ประโยชน์อย่างไร มาดูกันเลย

  • ชวนเข้าครัว ทำอาหาร

กิจกรรมง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์อย่างมากเพราะยังแฝงการเล่นเข้าไปได้ง่าย ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล้างผัก เด็ดผัก หั่นผัก ทำอาหาร เจียวไข่ ทอดไข่ ไปจนถึงการจัดจาน หากเพิ่มความสนุกในการเล่นกับการทำอาหารเข้าไป ก็ช่วยให้แฝงประโยชน์ เสริมพัฒนาการเข้าไปได้อย่างคาดไม่ถึง ทั้งการ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ ฝึกควบคุมตัวเอง ฝึกวิเคราะห์ แก้ปัญหา จากชีวิตจริงได้ด้วย

  • ชวนทำงานบ้าน

ผู้ปกครองคงจะปวดหัวกับการต้องทำงานบ้านที่ไม่เสร็จสักทีเพราะมีเจ้าตัวเล็กมาคอยกวน แต่หากลองเปลี่ยนจากให้เค้าเข้ามากวนเป็นช่วยกันทำงานบ้าน ก็จะเพิ่มความสนุกเข้าไปได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะความจริงแล้วงานบ้านไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้นแต่เป็นงานที่ต้องช่วยกัน ให้ครอบครัวช่วยกันทำให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก จูงใจทำให้เป็นเรื่องสนุก สอดแทรกเกมการเล่น ชวนลูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาและสม่ำเสมอแล้วจะกลายเป็นความเคยชินนั่นเอง


อีกทั้งไม่ว่าจะทำกิจกรรมเข้าครัวหรือทำงานบ้านนอกจากได้พัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นแล้ว อีกทักษะที่ได้รับการพัฒนาด้วยก้คือทักษะ EF (Executive Function) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการจัดการชีวิตให้ประสบความสำเร็จ เพราะการทำงานบ้านหรือการทำอาหาร เด็ก ๆ จำเป็นต้องควบคุมตัวเองให้ทำงานเสร็จตามเป้าหมาย คิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยังฝึกกล้ามเนื้อไปพร้อม ๆ กันด้วย

First-5 years-to-improve-skill

ชวนอ่าน เปิดโลกกว้าง 


การอ่านนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ เป็นประตูเข้าถึงคลังความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจและความสุขไม่เฉพาะกับเด็กแต่ยังรวมถึงพ่อแม่ที่ชวนเด็กเปิดอ่านหนังสือได้ด้วย 


การอ่านจึงเรียกว่าเป็นพื้นฐานให้เด็ก ๆ ได้ก้าวต่อไปสู่โลกที่เค้าสนใจและต่อยอดไปสู่ความรู้ที่เปิดกว้างให้ได้ค้นคว้า เสริมจินตนาการตามต้องการได้เอง ซึ่งพฤติกรรมรักการอ่านนี้ก็เสริมสร้างได้ไม่ยากนัก เพียงแค่เริ่มต้นจากการเปิดอ่านนิทาน หนังสือภาพ หรือคำศัพท์สั้น ๆ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสร้างพฤติกรรมรักการอ่านได้อย่างดี


การจะให้เด็ก ๆ สร้างพฤติกรรมเหล่านี้ได้นั้น ก็ต้องเริ่มต้นจากการให้เด็ก ๆ เชื่อมโยงความรักเข้ากับช่วงเวลาอ่านหนังสือก่อน สร้างโมเมนต์ที่อบอุ่น สร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ ระหว่างการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำเสียงสูงต่ำ เล่าด้วยน้ำเสียงชวนติดตาม สร้างความทรงจำที่มีความสุขให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เค้ารู้สึกว่าการอ่านหนังสือมีความสุขมากที่สุด 


ที่สำคัญการอ่านที่ดีต้องเต็มไปด้วยคุณภาพ ถึงแม้จะใช้เวลาสั้น ๆ หากให้ความใส่ใจ สร้างช่วงเวลาที่มีความสุขได้ การอ่านเพียงนิทานสั้น ๆ หรือใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ก็ช่วยให้เด็ก ๆ ประทับใจและสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือโอกาสใด พ่อแม่หรือครอบครัวก็สามารถสร้างช่วงเวลาการอ่านที่มีคุณภาพให้กับเด็ก ๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลานั่นเอง

การอ่าน เสริมพัฒนาการอย่างไร? 


ข้อดีของการอ่านหนังสือให้กับลูกที่แตกต่างจากการเล่นของเล่น หรือของเล่นไม้ ก็คือ ลูกได้เรียนรู้จากการฟังและการดู เด็ก ๆ ได้จินตนาการ มองภาพสวย ๆ ไปพร้อมกับจินตนาการเข้าไปอยู่ในเรื่องราวที่ครอบครัวได้อ่านให้ฟัง ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งรูปร่างหน้าตา สิ่งของ หรือสีสันต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กับการติดตามเนื้อเรื่อง และต่อยอดไปสู่การคิดและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความอยากรู้อยากเห็น ชวนสนใจมากยิ่งขึ้น


นอกจากจินตนาการและการคิดต่อยอดแล้ว การที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภาษา คำศัพท์ การสื่อสารและเติมเต็มความสุขในช่วงเวลาการอ่าน ก็ช่วยเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการอ่านหนังสือเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้คำศัพท์ที่หลากหลาย โทนเสียง น้ำเสียง ในแบบต่าง ๆ จากนิทาน เด็ก ๆ จะค่อย ๆ จำ ค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว รู้จักการอ่านออกเสียง เด็กคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ เมื่อถึงวัยเรียนจะส่งผลต่อการเรียนรู้จากการอ่านอย่างมีนัยยะสำคัญ


การชวนลูกอ่านจึงนับว่าช่วยเติมเต็มความอบอุ่นในครอบครัว เติมความใกล้ชิดให้กันและกันมากยิ่งขึ้น เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสร้างสายสัมพันธ์กันระหว่างครอบครัวพ่อแม่ลูกให้เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากกว่าแค่ช่วงเวลาอ่านหนังสือ

First-5 years-to-improve-skill

หยิบของเล่นไม้ชิ้นโปรด แล้วออกไปเที่ยวกัน


ชวนเด็ก ๆออกไปข้างนอกโดยอาจหยิบของเล่นไม้ชิ้นโปรดไปเล่นร่วมกับธรรมชาติรอบตัว ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้โลกกว้างและมักจะตื่นเต้นกับการออกนอกบ้านไปผจญภัยเสมอ แน่นอนว่าการออกเดินทางเที่ยวเด็ก ๆ ได้ประโยชน์มากมายที่ครอบครัวอาจคาดไม่ถึง


สิ่งที่เด็ก ๆ ได้จากการออกไปเที่ยวนอกบ้านก็คือ การเปิดโลกของเค้าให้กว้างขึ้น จากที่เคยเรียนรู้แต่ในบ้าน การออกมาเรียนรู้นอกบ้านจึงเป็นโอกาสและสร้างประสบการณ์ให้กับเค้าในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งอาหารต่างถิ่น บรรยากาศแปลกใหม่ พบปะผู้คนหลากหลาย ทำให้เด็ก ๆ ได้ขยายกรอบความคิด เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่มากขึ้นจากเดิม  และที่สำคัญได้ใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว

เที่ยวยังไง ให้ได้ประโยชน์


ตั้งแต่เริ่มต้นทริปไปจนจบทริป ครอบครัวก็สามารถเพิ่มการเรียนรู้เข้าไปได้โดยที่เด็ก ๆ ไม่รู้ตัว โดยสามารถทำได้ดังนี้

  1. สร้างข้อตกลงและวางแผนเที่ยวก่อนออกทริป

ให้เค้าได้มีส่วนร่วมในการออกเที่ยวได้มากที่สุด ตั้งแต่การชวนเลือกสถานที่ เดินทางจากไหน เดินทางด้วยอะไร ใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร เตรียมเสื้อผ้าอะไรไปบ้าง เป็นต้น เพื่อบอกให้เด็ก ๆ เตรียมตัว และเตรียมพร้อมในการออกไปเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ และเป็นการฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็ก ๆ ไปพร้อมกัน


     2. สร้างกิจกรรมระหว่างเดินทาง

ไม่ว่าจะใช้ของเล่นหรือของเล่นไม้เพื่อดึงดูดความสนใจระหว่างเดินทางอีกกิจกรรมที่สามารถเพิ่มให้กับเด็ก ๆ ได้ก็คือ การเล่นเกมไปด้วย อย่างเช่น การจับคู่สีรถ บวกเลขป้ายทะเบียน นับป้ายบอกทาง สัญลักษณ์บนท้องถนน ฯลฯ การเพิ่มกิจกรรมเหล่านี้ไประหว่างเดินทางจะช่วยเพิ่มความสนุกให้กับการเดินทางและฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกตได้เป็นอย่างดี


     3. สัมผัสประสบการณ์ให้เต็มที่

ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับกิจกรรมและการเดินทางตามข้อตกลงที่ได้บอกกับเค้าไว้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ปล่อยให้เค้าสนุกได้อย่างอิสระ ได้สัมผัสการเล่นและเรียนรู้ให้มากที่สุด


     4. ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้หลังจบทริป

ไม่ว่าจะชวนให้เด็กเขียนเรื่องราว อ่านหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับสถานที่ที่เคยไปมา หรือต่อยอดจากการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริง ก็ช่วยให้การชวนเด็ก ๆ ไปเที่ยวได้ประโยชน์และเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างดี

การเสริมพัฒนาการใน 5 ปีแรกจำเป็นอย่างยิ่งในการปูรากฐานให้เด็ก ๆ ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และเสริมพัฒนาการได้อย่างสมวัย ซึ่งหากครอบครัวให้ความรัก ความอบอุ่น รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมทั้ง 5 อย่าง สอดคล้องไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการเล่นของเด็ก ๆ ก็เชื่อว่าจะช่วยให้พัฒนาการของเด็ก ๆ เติบโตได้อย่างเหมาะสมและสมวัยอย่างแน่นอน


อ้างอิง

1. “สิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างลูก” 2561. [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา https://drive.google.com/file/d/1nTnuV-0u52DVEBJC4YXBqcAtNExSAF5S/view (มกราคม 2561)


counter for blog

Leave a comment

* Required fields

Please note: comments must be approved before they are published.