กลอง-ของเล่นเสริมพัฒนาการ

ตีกลอง ดีดกีตาร์ เป่าคาซู สนุกกับของเล่นเครื่องดนตรีเสริมพัฒนาการ

ตีกลอง ดีดกีตาร์ เป่าคาซู สนุกกับของเล่นเครื่องดนตรีเสริมพัฒนาการ

'การที่เด็ก ๆ ได้เล่นสนุก เรียนรู้จังหวะ ผ่านเครื่องดนตรีอย่าง กลอง กีตาร์ ไวโอลิน หรือเครื่องดนตรีประเภทอื่น ๆ ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นเครื่องดนตรีของเล่นแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจ เติมจินตนาการ และเป็นประตูสู่การเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ ได้เช่นกัน'

กลอง กีตาร์ คาซู เครื่องดนตรี ของเล่นเสริมพัฒนาการ

ของเล่นเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเป็นกลอง กีตาร์ หรือคาซู ก็เป็นอีกตัวเลือกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ได้ เพราะการได้ยินเสียงต่าง ๆ ย่อมกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการฟังเสียงได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยหัดเดิน ซึ่งพัฒนาการการได้ยินจะค่อย ๆ เพิ่มเป็นลำดับขั้น โดยเริ่มต้นเพียงแค่ได้ยินเสียงแต่ไม่รู้ว่าต้นกำเนิดเสียงมาจากที่ใด ซึ่งเด็ก ๆ จะตอบสนองโดยการเงียบลง ส่งเสียงตอบกลับ หรือขยับตัวตอบรับเสียง 


เมื่อเติบโตขึ้นกระบวนการเหล่านี้ย่อมพัฒนาเป็นลำดับขั้น ไล่ตั้งแต่เริ่มแยกแยะเสียงได้ เริ่มชินกับเสียงพ่อแม่ หันหน้าเข้าหาต้นกำเนิดเสียง ส่งเสียงตอบรับ ไปจนถึงเลียนแบบเสียงทีไ่ด้ยินบ่อย ๆ หรือได้ยินซ้ำ ๆ ได้ เป็นต้น 


พัฒนาการการได้ยินเหล่านี้จะเริ่มเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน จนถึงช่วงที่ออกเสียงง่าย ๆ ได้มากขึ้น คือช่วงอายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง - 2 ขวบ ทำให้การเล่นของเล่นที่สร้างเสียง ที่เหมาะสมก็จะช่วยเสริมพัฒนาการในส่วนนี้ได้อย่างดี

ของเล่นเครื่องดนตรีควรเริ่มเล่นตอนอายุเท่าไหร่ดี?

ไม่ว่าจะเป็นการตีกลอง การดีดกีตาร์ หรือการเป่าคาซูวิธีการเล่นของเล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้มักมีเทคนิคและวิธีการเล่นที่สามารถเสริมพัฒนาการได้โดยใช้อายุของเด็ก เป็นเกณฑ์ในการแบ่งวิธีการเล่นดังนี้


เด็กวัย 6 เดือน - 2 ปี การเล่นของเล่นเหล่านี้จะเน้นที่การเล่นตามฟังก์ชันของของเล่นชิ้นนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีกลอง การดีด และการเป่าที่ไม่ต้องเข้าใจจังหวะ ให้เด็ก ๆ ลองสัมผัสและลองใช้ประสาทสัมผัสเล่นเพื่อทำความคุ้นเคยไปก่อน


เด็กวัย 3 - 5 ปี เมื่อเด็ก ๆ คุ้นชินกับการเล่น หรือชินกับเสียงแล้วจึงให้เค้าฝึกทักษะการเล่นเครื่องดนตรีที่ถูกต้องเพื่อปูพื้นฐานในการเรียนรู้เป็นลำดับต่อไป


เด็กวัย 6 ปี ขึ้นไป เมื่อเข้าใจพื้นฐานในการเล่นเครื่องดนตรีแล้วจึงเพิ่มความซับซ้อน ต่อยอด เพิ่มเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิดลงไป เพื่อเพิ่มความชำนาญและต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีในอนาคต


การแบ่งอายุการเล่นเป็นจุดเริ่มต้นในการให้เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนรู้ด้านดนตรีได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรี เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดไปสู่การเล่นดนตรีได้ในอนาคต 

เสริมพัฒนาการผ่านการเล่นของเล่นเครื่องดนตรีอย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นกลอง กีตาร์ หรือคาซู สามารถเล่นเสริมพัฒนาการได้ง่ายดังนี้


ฝึกการเรียนรู้เสียงจากน้ำหนักในการเล่น 
เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เสียงจากการตี การดีด หรือการเป่า ที่ให้เสียงแตกต่างกัน ฝึกการแยกแยะเสียงจากการเล่น


เล่นด้วยการเรียนรู้จังหวะ การสร้างจังหวะช้าหรือเร็ว ช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้รูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันได้


ฝึกการเรียนรู้จากการเล่นเป็นกลุ่ม ช่วยให้เด็ก ๆ ฝึกฝนการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีมผ่านการเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่น


ฝึกการเรียนรู้การสร้างโน๊ตใหม่ ไม่ว่าเครื่องดนตรีชนิดใด ก็สามารถเสียงใหม่หรือโน๊ตใหม่ขึ้นมาได้ในระหว่างการเล่น


ฝึกการเคลื่อนไหวด้วยเครื่องดนตรี สามารถชวนเด็ก ๆ เล่นดนตรีประกอบการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้ท่าทางประกอบจังหวะ หรือการใช้จังหวะกำกับการเคลื่อนไหว หรือใช้ดนตรีประกอบการเล่านิทาน


จะเห็นว่าการเล่นดนตรีสามารถประยุกต์ใช้ในการเล่นได้มากมาย ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้สนุกและเรียนรู้ที่หลากหลายและกระตุ้น ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี

เล่นเครื่องดนตรีเสริมพัฒนาการอะไรบ้าง?

การเล่นเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นกลอง กีตาร์ คาซูหรือเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ สามารถช่วยเสริมพัฒนาการที่สำคัญได้ดังนี้


พัฒนาการด้านร่างกาย ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมือ นิ้ว ขา แขน หรืออวัยวะต่าง ๆ ที่ใช้ในการเล่นดนตรีช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและประสานการใช้อวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น


พัฒนาการด้านการฟัง ช่วยให้เด็ก ๆ ฝึกการฟัง การได้ยิน แยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ฝึกฝนสมาธิ ช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิ โฟกัสกับเครื่องดนตรีที่กำลังเล่น เพิ่มความจดจ่อในการเล่นได้


พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม ช่วยให้เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ และเมื่อเล่นร่วมกันกับผู้อื่นด้วยเครื่องดนตรีที่หลากหลายจะช่วยเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น


พัฒนาจินตนาการและความิคดสร้างสรรค์ ช่วยสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ผ่านจังหวะและเสียงดนตรีที่เราสร้างขึ้นเอง

เชื่อว่าหลาย ๆ ครอบครัวอาจวางแผนการเรียนรู้เรื่องดนตรีให้กับเด็ก ๆ เอาไว้แล้ว แต่หากครอบครัวไหนยังไม่ได้วางแผน การให้เด็ก ๆ ลองเริ่มเล่นของเล่นที่สร้างเสียงได้ก่อน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไม่แน่ว่าการเล่นของเล่นชิ้นเล็ก ๆ อาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับเค้าในการเป็นนักดนตรีได้ในอนาคต

blog counter

แสดงความคิดเห็น

*ช่องที่ต้องกรอก

โปรดทราบ: ความเห็นจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะถูกเผยแพร่