Unlocking the Building Blocks of Childhood: The 7 Stages of Block Play

เสริมพัฒนาการเด็ก 1-7 ขวบ ด้วยการเล่นกับบล็อกไม้ตามช่วงวัย

เสริมพัฒนาการเด็ก 1-7 ขวบ ด้วยการเล่นกับบล็อกไม้ตามช่วงวัย

การเล่นกับบล็อกไม้เป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์แก่เด็กอย่างมากมาย โดย ดร. แฮร์ริต เอ็ม. จอห์นสัน ผู้บุกเบิกการศึกษาเด็กเล็กปฐมวัย ได้แนะนำเกี่ยวกับ 7 ขั้นตอนการเล่นบล็อกตามช่วงวัยของเด็ก ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีการโฟกัสที่ต่างกันออกไป ตามพัฒนาการของเด็กๆ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะของพวกเขา วันนี้แปลนทอยส์จึงอยากพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

 

ขั้นที่ 1: การสำรวจ (1-2 ขวบ)

ในขั้นแรกสุด เด็กๆ จะเริ่มสำรวจรูปร่าง ขนาด และสีผ่านการสัมผัสบล็อก การเล่นยังไม่มีระเบียบแบบแผน ยังไม่สามารถก่อสร้างเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ ในช่วงนี้เด็กจะได้ฝึกพัฒนาประสาทสัมผัส รวมถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก

 

ขั้นที่ 2: การควบคุม (2-3 ขวบ)

ในวัยนี้พวกเขาจะเริ่มต่อบล็อกเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน และเริ่มควบคุมการเล่นเองได้ พัฒนาการที่จะได้รับคือการทำงานร่วมกันของมือและตา ความคิดสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ผ่านการเปิดโอกาสให้เล่น ให้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง

ขั้นที่ 3: การสร้างสะพาน (3-4 ขวบ)

เด็กๆ เริ่มก่อสร้างสิ่งของอย่างง่าย เช่น สะพาน ความคิดของเด็กในช่วงวัยนี้จะมีความเป็นระบบมากขึ้น เข้าใจว่าการวางบล็อก 2 ก้อนในแนวตั้งให้เป็นเสา แล้วเชื่อมเสาด้วยบล็อกก้อนที่ 3 ในแนวนอน จะสามารถสร้างสะพานได้ เริ่มเข้าใจแนวคิดทางคณิตศาสตร์อย่างความสมมาตร การเรียงลำดับ การเลือกบล็อกที่มีรูปร่างสีสันต่างกันออกไปจะช่วยให้เด็กๆ ได้ลองหาวิธีเล่นอย่างหลากหลายมากขึ้น

 

ขั้นที่ 4: การสร้างรั้วหรือกำแพง (4-5 ขวบ)

ในขั้นที่ 4 นี้ เด็กจะเริ่มสร้างบล็อกให้มีความสมมาตรได้ เช่น การวางล้อมรอบรั้ว การสร้างกำแพง จากนั้นเด็กจะเล่นวนซ้ำไปเรื่อยๆ แต่การต่อบล็อกจะมีความท้าทาย ซับซ้อนมากขึ้น ได้ฝึกใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ขั้นที่ 5: การสร้างบล็อกตามจินตนาการ (5-6 ขวบ)

เมื่ออายุเข้าช่วง 5-6 ขวบ เด็กจะสามารถสร้างบล็อกตามจินตนาการ เพื่อเล่าเป็นเรื่องราวได้ สิ่งก่อสร้างจะมีความยาก ซับซ้อนมากขึ้นกว่าช่วงแรก การเรียงบล็อกจะมีความสมดุลและสมมาตรมากขึ้น แต่เด็กจะยังไม่ตั้งชื่อให้กับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

 

ขั้นที่ 6: การตั้งชื่อ (6-7 ขวบ)

ในช่วงนี้เด็กจะเริ่มตั้งชื่อให้กับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา โดยจะเป็นชื่อที่มีความสอดคล้องกัน แต่เด็กๆ จะตั้งชื่อในระหว่างการเล่น หรือหลังจากเล่นเสร็จแล้ว และจะสังเกตได้ว่าเด็กจะเริ่มเล่นด้วยกันกับผู้อื่น มีการสื่อสาร การร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

 

ขั้นที่ 7: การเล่นในระดับยากขึ้น (7 ขวบขึ้นไป)

ในช่วง 7 ขวบ เด็กจะตั้งชื่อเรียกให้กับสิ่งที่ตัวเองจะสร้างขึ้นมาก่อน โดยอ้างอิงตามฟังก์ชั่นของสิ่งๆ นั้น มีการเล่นแบบบทบาทสมมติ มีการใช้การคิดแก้ไขปัญหา การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เด็กหลายคนจะค้นพบงานอดิเรกที่ชอบหรืออาชีพในฝันที่อยากทำ

 

 

ประโยชน์จากการเล่นบล็อกสำหรับเด็กทุกวัย

กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่: การเล่นบล็อกจะช่วยให้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่มีความแข็งแรงขึ้น ช่วยให้การทำงานร่วมกันของมือและตาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีความคล่องแคล่วมากขึ้น

 

พัฒนาการด้านสติปัญญา: บล็อกช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดแก้ไขปัญหา พัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์แบบสนุกๆ รวมถึง Spatial Awareness ซึ่งหมายถึงเด็กจะสามารถเข้าใจและรับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว สามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้

 

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์: บล็อกเป็นเหมือนพื้นที่เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการตัวเองอย่างเต็มที่ ในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

 

ทักษะทางสังคมและการสื่อสาร: เด็กจะได้ฝึกทักษะการเข้าสังคม การสื่อสารผ่านการเล่นกับบล็อก รวมถึงการเล่นกับผู้อื่น ได้เจอความขัดแย้ง ได้แก้ไขปัญหา

 

เตรียมพร้อมสำหรับอาชีพในฝัน: การเล่นกับบล็อกอาจช่วยให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ชอบหรืออาชีพในฝัน

     

    การเล่นกับบล็อกไม่ได้เป็นเพียงการเล่นธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างให้รากฐานพัฒนาการของเด็กมีความมั่นคงขึ้น การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของพวกเขามากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น บ้านตุ๊กตาและของเล่นบทบาทสมมติอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กๆ ได้แสดงออกทางจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำบล็อกไปต่อยอดเล่นกับของเล่นอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

    แสดงความคิดเห็น

    *ช่องที่ต้องกรอก

    โปรดทราบ: ความเห็นจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะถูกเผยแพร่