ของเล่น-เล่นเสริมพัฒนาการ

เล่นเสริมพัฒนาการ เด็ก ๆ เล่นอะไรได้บ้าง?

เล่นเสริมพัฒนาการ เด็ก ๆ เล่นอะไรได้บ้าง?

การเล่นเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ การเปิดอิสระให้กับเด็กได้เล่นทั้งทางร่างกาย ทางความคิด และทางสังคม จะช่วยให้การเล่นของเด็ก ๆ มีประสิทธิภาพ และมีความสุขไปพร้อมกัน

ชวนเล่นเสริมพัฒนาการ

ในปัจจุบัน การเล่นเสริมพัฒนาการเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ ครอบครัวให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพราะโดยธรรมชาติแล้วเด็ก ๆ ต้องการเล่นอยู่ตลอดเวลา และจะเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่น ซึ่งพัฒนาการต่าง ๆ จะเติบโตและเป็นไปตามวัยอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ของเล่นจะช่วยเป็นสื่อในการเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ เป็นคนช่างสังเกต คิดเชื่อมโยงเหตุผล ได้ใช้ความคิสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำให้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ได้ดีในอนาคต


แน่นอนว่าการเล่นของเด็ก ๆ จะพัฒนาจากทักษะและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมถึงรู้จักสังเกตความแตกต่าง ของสิ่งของต่าง ๆ ผ่านรูปร่าง ขนาด ผิวสัมผัส เป็นต้น ดังนั้นการที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้จัดหาวิธีการเล่นที่สนุก พร้อมกับพัฒนาทักษะและคำนึงถึงความปลอดภัย ก็ช่วยให้เด็ก ๆ เล่นได้อย่างมีความสุขและเสริมพัฒนาการได้อย่างดีอีกด้วย

เล่นอย่างไรให้เสริมพัฒนาการ

การเลี้ยงดูผ่านการเล่นเสริมพัฒนาการเพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้และสร้างพัฒนาการทางสมองเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เด็ก ๆ เล่นได้อย่างมีความสุข พร้อมกับเรียนรู้การควบคุมตัวเอง วางแผน และตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตให้สำเร็จ การเล่นของเด็ก ๆ จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองโดยตรง ลักษณะการเล่นของเด็ก ๆ มีถึง 6 ประเภทดังนี้

  • การเล่นกับร่างกายตนเอง (Unoccupied Play)

เป็นการเล่นในช่วงแรกเกิดจนถึง 3 เดือน เป็นช่วงที่ทารกชอบเคลื่อนไหวร่างกายของตน (มือ แขน ขา นิ้ว เท้า) เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้และทำความรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

  • การเล่นตามลำพัง (Solitary Play)

การเล่นในช่วงแรกเกิดถึง 2 ปี เด็กจะชอบเล่นคนเดียวและไม่สนที่จะเล่นเป็นกลุ่ม ชอบหยิบจับ สำรวจสิ่งของโดยการหยิบเข้าปากเพื่อเรียนรู้รสชาติ การเล่นแบบนี้พ่อแม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ ได้ ตั้งแต่การหยิบ ยื่น ส่งสิ่งของ พูด คุย หยอกล้อ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภาษาระหว่างการเล่นได้ และควรเน้นให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเคลื่อนไหวอย่างอิสระ

  • การเล่นแบบสังเกตการณ์ (Spectator/Onlooker Behavior)

เป็นการเล่นในช่วงวัย 2 ปีเด็ก ๆ จะให้ความสนใจกับการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเอง จะสังเกตและพูดคุยกับเด็กคนอื่น ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยเสริมพัฒนาการการเข้าสังคมให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะให้เด็ก ๆ ได้เล่นกับเพื่อนต่างวัยและต่างเพศก็ช่วยเสริมพัฒนาการได้เป็นอย่างดี

  • การเล่นแบบต่างคนต่างเล่น (Parallel Play)

เด็ก ๆ ที่อายุมากกว่า 2 ปี จะชอบเล่นแบบนี้ เพราะเป็นการเล่นแบบอิสระ ซึ่งอาจจะใช้การเล่นที่เลียนแบบจากเพื่อน ๆ มาเล่นกับตัวเอง และไม่ไปแทรกแซงการเล่นของคนอื่นด้วย ระหว่างเล่นก็สามารถสอดแทรกการสร้างวินัยโดยการแบ่งเวลาเล่น เพื่อให้เขาได้ทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่นด้วย เช่น กำหนด เวลาเล่น เวลากิน เวลานอน

  • การเล่นร่วมกับคนอื่น (Associative Play)

ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะเล่นร่วมกับคนอื่นเในช่วงอายุ 3-4 ขวบ โดยมีอุปกรณ์การเล่นคนละชิ้น โดยจะเล่นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 2-3 คน อาจจะสลับอุปกรณ์การเล่นกัน เด็กจะได้รู้จักการแบ่งปัน รู้จักความสามัคคี รู้จักการแก้ปัญหา และพัฒนาการทางภาษาได้

  • การเล่นแบบร่วมมือกัน (Cooperative Play)

เป็นการเล่นของเด็กวัย 4 ขวบ ขึ้นไป เพื่อสร้างความเพลิดเพลินโดยมีจุดหมายร่วมกัน เด็ก ๆ จะเรียนรู้การแพ้ชนะ การให้อภัย และการแบ่งปัน การเล่นแบบนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถมีส่วนร่วมการเล่นได้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ 

เล่นสนุกได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เล่นเสริมพัฒนาการหรือเล่นของเล่นที่เด็ก ๆ ชอบเล่น หลาย ๆ ประเภทนอกจากเสริมพัฒนาการตามวัยแล้ว เด็ก ๆ จะได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงความคิดผ่านการเล่น รวมไปถึงประโยชน์อีกหลายด้าน ดังนี้

  • พัฒนาการด้านร่างกาย เด็ก ๆ ได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกความคล่องแคล่ว การเคลื่อนที่ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่
  • พัฒนาการด้านสติปัญญา การได้เรียนรู้อย่างเป็นอิสระผ่านการเล่น จะเกิดการพัฒนาทางการคิดผ่านการจดจำ วางแผน และแก้ปัญหา รวมไปถึงการได้ดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ระหว่างการเล่น
  • พัฒนาการด้านอารมณ์ การเล่นของเล่นที่เสริมพัฒนาการช่วยเรื่องของการรู้เท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ และพัฒนาอารมณ์ได้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในอนาคตและเป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม
  • พัฒนาด้านสังคม-จิตใจ การเล่นยังช่วยสร้างประสบการณ์และฝึกการเข้าสังคม รู้จักหน้าที่บทบาทของสมาชิกในกลุ่มขณะเล่น ฝึกการปรับตัว รู้จักความเห็นอกเห็นใจ เรียนรู้การแบ่งปัน และการร่วมมือกับคนอื่น

วิธีเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก

จะเห็นว่าการเล่นเสริมพัฒนาการ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้และทักษะได้ดีขึ้น ของเล่นก็เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุกและเสริมพัฒนาการได้ดีและเป็นไปตามวัย การเลือกของเล่นให้ดีและเหมาะสมกับวัยนั้น มีขั้นตอนการเลือกดังนี้

  • เลือกของเล่นที่ปลอดภัย ไม่มีเหลี่ยมหรือคม ที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยและมีใบรับรอง
  • เลือกของเล่นที่เหมาะกับวัย น้ำหนักและขนาดพอดี
  •  หลีกเลี่ยงของเล่นที่ส่งเสริมความรุนแรง
  • เลือกของเล่นที่เสริมพัฒนาการได้สมวัยหรือเลือกตามช่วงอายุของเด็ก ๆ

นอกจากการเลือกของเล่นแล้ว ควรใช้เวลาว่างในการเล่นกับเด็ก ๆ ทั้งการใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อการเล่น การเล่านิทาน การประดิษฐ์ของเล่นร่วมกัน จะช่วยให้เด็ก ๆ สนุกและสร้างช่วงเวลาดีร่วมกัน

counter for blog
ซื้อของเล่นไม้

แสดงความคิดเห็น

*ช่องที่ต้องกรอก

โปรดทราบ: ความเห็นจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะถูกเผยแพร่